หลักสูตร


  • หลักสูตรหลักประจำ

    หมายเลขหลักสูตร  ๒๕๐ – ก – ล.๑๒  หมายเลข ชกท. ๐๐๑๒ 

    ​เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษามีความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้           


    ความมุ่งหมาย  

    ๑. เป็นผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการที่มีภาวะผู้นำที่ดีมีศักยภาพในการเรียนรู้ มีบุคลิกภาพทหารที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์


    ๒. ปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการได้เป็นอย่างดี ตามความต้องการของกองทัพบก และสามารถเป็นฝ่ายอำนวยการในการยุทธ์ร่วม/ผสมได้ในระดับยุทธการลงมา


    ๓. ปฏิบัติงานตามภารกิจและพันธกิจของ ทบ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานร่วมกับ เหล่าทัพอื่น, ส่วนราชการ และมิตรประเทศได้


    ๔. มีความรอบรู้เกี่ยวกับ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงของประเทศไทย


    คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษา 

    - ตามประกาศกองทัพบก เรื่องการรับสมัครนายทหารบกสัญญาบัตรชาย เพื่อเข้ารับการศึกษา หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ ๙๖  และเรื่อง การรับสมัครนายทหารบกสัญญาบัตรชาย เพื่อสอบคัดเลือกเข้ารับการศึกษา หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ ๙๖


    ระยะเวลาการศึกษา

    ​​๔๘  สัปดาห์  ๑,๖๘๐  ชั่วโมง


     

  • หลักสูตร นายทหารบกอาวุโส โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

    หมายเลขหลักสูตร  ๒๕๐ – ก – ล.๑๖ หมายเลข ชกท. ๐๐๑๘

    ความมุ่งหมาย  :  เพื่อให้นายทหารสัญญาบัตรมีความรู้ความสามารถ ดังต่อไปนี้

                ๑. เป็นผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการ ที่มีภาวะผู้นำที่ดี มีศักยภาพในการเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์


                ๒. ปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการ ได้ตามความต้องการของกองทัพบก และสามารถเป็นฝ่ายอำนวยการในการปฏิบัติการในพื้นที่ส่วนหลังรวมทั้งการบรรเทาสาธารณภัยได้เป็นอย่างดี


                ๓. มีความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติการพิเศษ การรักษาความมั่นคงภายใน การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือการสงคราม และบทบาทของกองทัพกับการพัฒนาประเทศ


                ๔. มีความรู้พื้นฐานในด้านความมั่นคง หลักการทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี รวมทั้งเข้าใจหลักการบริหารที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานได้


    คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษา  

                ๑. มีชั้นยศไม่ต่ำกว่า พันตรี และมีเวลารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร หรือรวมกันกับการเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรไม่ต่ำกว่า ๑๒ ปี นับถึงปีที่เปิดการศึกษา


                ๒. สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรชั้นนายพันของเหล่า หรือเทียบเท่ามาแล้ว และไม่เคยสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หรือโรงเรียนเสนาธิการของต่างเหล่าทัพและมิตรประเทศ


                ๓. อายุตั้งแต่ ๔๑ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน ๕๐ ปีบริบูรณ์ นับตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร โดยนับถึงปีที่เปิดการศึกษา


                ๔. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถตรากตรำในการศึกษา และปฏิบัติงานขณะเป็นนายทหารนักเรียน โดยผ่านการตรวจสอบสุขภาพชั้นต้น และมีหนังสือรับรองจากแพทย์ทหาร


                ๕. ได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงชั้นความลับ ลับมาก


                ๖. เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างการสอบสวนทางวินัย หรือเป็นจำเลยของศาลในคดีอาญา


     ระยะเวลาการศึกษา   ๒๔  สัปดาห์    ๘๔๐  ชั่วโมง

  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา) พ.ศ. ๒๕๕๖

    ๑.    ชื่อหลักสูตร


            หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา)


            Master of Arts Program in Security Studies


    ๒.    ชื่อปริญญา


    ภาษาไทย    :   ชื่อเต็ม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา) : ชื่อย่อ ศศ.ม.(ความมั่นคงศึกษา)


    ภาษาอังกฤษ :   ชื่อเต็ม  Master of Arts (Security Studies) : ชื่อย่อ   M.A. (Security Studies)


    ๔.   ปรัชญาของหลักสูตร


    คนหรือบุคลากรถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ  การพัฒนาและยกระดับการศึกษาของบุคลากรจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา) มุ่งพัฒนาบุคลากรทั้งในองค์กรภาครัฐ  องค์กรเอกชน  และพลเรือนทุกภาคส่วน  ให้เป็นผู้มีความรู้ทางด้านการทหารและความมั่นคงของชาติ  เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและการประสานงานในการแก้ปัญหาด้านการทหารและความมั่นคงของชาติไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ    


    ๕.   วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 


           ๕.๑ วัตถุประสงค์ของหลักสูตร หลักสูตรแผน ก  เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้


                 ๕.๑.๑ มีความรอบรู้ในกิจการทางด้านความมั่นคง ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก


                ๕.๑.๒ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและสามารถพัฒนางานในหน้าที่ ให้ก้าวทันกับบริบททางด้านความมั่นคง และการบริหารที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง


                ๕.๑.๓ มีความสามารถในการวิจัยและการให้คำปรึกษา เพื่อแก้ปัญหาทางด้านการทหารและความมั่นคงแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ


                ๕.๑.๔  มีภาวะผู้นำที่ดี สามารถพัฒาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตสาธารณะในการให้บริการสังคม


          ๕.๒  วัตถุประสงค์ของหลักสูตร หลักสูตรแผน ข  เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้


                 ๕.๒.๑  มีความรอบรู้ในกิจการทางด้านความมั่นคง ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและ  ระดับโลก


                 ๕.๒.๒ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และสามารถพัฒนางานในหน้าที่ให้ก้าวทันกับบริบททางด้านความมั่นคง และการบริหารที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง


                 ๕.๒.๓ มีความสามารถในการใช้องค์ความรู้ทางด้านการทหารและความมั่นคง นำผลการศึกษามาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่บุคคลากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ


                 ๕.๒.๔  มีภาวะผู้นำที่ดี สามารถพัฒาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตสาธารณะในการให้บริการสังคม


    ๗.   คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา  ผู้เข้ารับการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มดังนี้คือ


          ๗.๑  ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารระดับสูงในกระทรวงกลาโหม คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในหลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ หลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ หลักสูตรนายทหารบกอาวุโส หลักสูตรนายทหารเรืออาวุโส หลักสูตรนายทหารอากาศอาวุโส หลักสูตรนายทหารกองบัญชาการทหารสูงสุดอาวุโส หลักสูตรวิทยาลัยการทัพบก  หลักสูตรวิทยาลัยการทัพเรือ หลักสูตรวิทยาลัยการทัพอากาศ และหลักสูตรวิทยาลัยสนาธิการทหาร หรือหลักสูตรการศึกษาอื่นๆ ที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ความมั่นคงศึกษา) โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนด ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนทหารระดับสูงในกระทรวงกลาโหม เมื่อเข้ารับการศึกษาจะได้รับการเทียบโอนหน่วยกิต บางส่วนตามระเบียบที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนด ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาในหลักสูตรตามวรรคแรกนี้จะได้รับการเทียบโอนหน่วยกิต เมื่อจบการศึกษาในหลักสูตรแล้วเท่านั้นและมีระดับการวัดผลในรายวิชาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด


         ๗.๒  บุคคลทั่วไป  มีคุณสมบัติดังนี้


                ๗.๒.๑ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรอง


                ๗.๒.๒  มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี


    ๘.    วิธีการคัดเลือกผู้เข้าศึกษา


           ๘.๑  ผู้สมัครจะต้องผ่านการทดสอบความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยและสถิติเบื้องต้น ความรู้พื้นฐานทางทหาร ภาษาอังกฤษ และบุคคลทั่วไปตามข้อ ๗.๒ จะต้องสอบสัมภาษณ์ด้วย


           ๘.๒  คณะกรรมการคัดเลือกที่แต่งตั้งโดยโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จะพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่   ผ่านการทดสอบความรู้ ประสบการณ์ ผลการศึกษาในระดับปริญญาตรีและความเหมาะสมอื่นๆ เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาต่อไป 


    ๑๐.  ระยะเวลาการศึกษา


           ๑๐.๑  ในระบบการศึกษาแบบทวิภาคใช้เวลาการศึกษาตลอดหลักสูตรอย่างน้อย ๔ ภาคการศึกษาปกติ หรือไม่น้อยกว่า ๒ ปีการศึกษา และอย่างมากไม่เกิน  ๕  ปีการศึกษา โดยนักศึกษาสามารถที่จะเรียนรายวิชาและทำวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ให้สำเร็จการศึกษาได้ภายในเวลา  ๒ ปี แต่ไม่เกิน  ๕  ปีการศึกษา


           ๑๐.๒  การคำนวณระยะเวลาศึกษาของนักศึกษาแต่ละคนให้นับจากวันที่เริ่มเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรถึงวันที่สอบผ่านวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์ขั้นสุดท้าย

  • หลักสูตร การพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้าย และการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร (พรส.)

    บทนำ

     

    “โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงได้ริเริ่มจัดทำ “หลักสูตรการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร” ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางขั้นต้นสำหรับผู้บริหารที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้สามารถเข้าใจและนำไปประยุกต์ ในการกำหนดกรอบนโยบายในการแก้ปัญหา ๓ จชต. ของทุกส่วนงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา ๓ จชต. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"


    ๑. หลักการและเหตุผล

            สภาพแวดล้อมความมั่นคงของโลกปัจจุบัน หลัง ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ มิติความมั่นคงถูกครอบงำด้วยบริบทของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (Global War on Terror) ไปทุกส่วนของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจเดี่ยว ดำเนินนโยบาย ควบคุมยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายกับกลุ่มก่อการร้ายระดับโลก เช่น “อัลเคด้า”


            ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็หนีไม่พ้นกระแสแนวคิดการทำสงครามไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ในบัญชีการก่อการร้ายสากลที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกาได้แก่ กลุ่มเจมาห์อิสลามิยาห์, กลุ่มอาบูซายับ และกลุ่มก่อการร้ายใหม่ๆที่พัฒนาศักยภาพมาจากกลุ่มก่อความไม่สงบภายในประเทศ เป็นต้น


            ประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่ประกาศดำเนินนโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้กรอบขององค์กรสหประชาชาติ  กรอบอาเซียน  เอเปค และเออาร์เอฟ (ARF) ที่สำคัญมีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาล และในระดับปฏิบัติการระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย 


            ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืน ๔ มกราคม ๒๕๔๗  สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จชต. ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่การแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วความรุนแรงของสถานการณ์มิได้ลดน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังหาทางออกไม่ได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในบางส่วนของภาครัฐ ยังมีความเข้าใจในเรื่องการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่มากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลในระดับสากล และยังคงสับสนเกี่ยวกับ การก่อความไม่สงบ, การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบที่เป็นปัจจัยภายในประเทศ หรืออาจจะเข้าใจไปคนละทาง จนก่อให้เกิดช่องว่างในการแก้ปัญหาตลอดมา


            โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง เป็นสถาบันหลักที่ผลิตนายทหารในกองทัพบก เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นเป็นผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการในกองทัพบก ที่พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ จริยธรรม คุณธรรม ด้วยการให้การศึกษาในวิชาการด้านการทหาร และความมั่นคงที่ทันสมัย ตามสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง และจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน ๓ จชต.นั้น โรงเรียนเสนาธิการทหารบกเห็นว่า หากจะแก้ปัญหาใน ๓ จชต.ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วนั้น จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหานั้นอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาใน ๓ จชต. จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง โรงเรียนเสนาธิการทหารบกจึงได้ริเริ่มจัดทำ “หลักสูตรการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สำหรับผู้บริหาร” ขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางขั้นต้นสำหรับผู้บริหารที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถเข้าใจและนำไปประยุกต์ ในการกำหนดกรอบนโยบายในการแก้ปัญหา ๓ จชต. ของทุกส่วนงาน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา ๓ จชต. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


     


    ๒.  วัตถุประสงค์


        ๒.๑ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจในเรื่อง การก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย, การก่อความไม่สงบ และ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ

        ๒.๒ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามก่อการร้ายในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ 

        ๒.๓ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และ สามารถวิเคราะห์นโยบาย และยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของนานาชาติ กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศไทย

        ๒.๔ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษา เข้าใจ และ สามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อการร้ายมากำหนดนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้


     


    ๓.  การดำเนินการ


        ๓.๑  ระยะเวลาในการศึกษา : ๖ สัปดาห์ (สัปดาห์ละ ๒ วัน)

        ๓.๑ วิธีการศึกษา        

           ๓.๑.๑ การบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ

           ๓.๑.๒ การเสวนา 

           ๓.๑.๓ การสัมมนากลุ่ม 

        ๓.๒ การประเมินผล

           ๓.๒.๑ เอกสารวิเคราะห์ปัญหาการก่อการร้ายเป็นรายบุคคล

           ๓.๒.๒ เอกสารการสัมมนากลุ่ม และการนำเสนอ


     


    ๔.  ผู้เข้ารับการศึกษา


        ๔.๑ กลุ่มเป้าหมาย : ข้าราชการทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านความมั่นคง

        ๔.๒ คุณสมบัติ : 

          ๔.๒.๑ ข้าราชการทหารระดับผู้อำนวยการกอง (ชั้นยศ พ.อ. (พิเศษ))  

          ๔.๒.๒ ข้าราชการพลเรือน ระดับ ๘ หรือเทียบเท่า

        ๔.๓ จำนวน : ๓๐ นาย


     


    ๕.  สถานที่

            โรงเรียนเสนาธิการทหารบก


     

    ๖.  ผู้รับผิดชอบโครงการ

            ส่วนปฏิบัติการพิเศษ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก 



    ๗.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ


         ๙.๑ ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อการร้าย, สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ทั้งสถานการณ์การก่อการร้ายในที่เกิดในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต 

        ๙.๒ ผู้เข้ารับการศึกษามีการพัฒนาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสามารถกำหนดนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกัน ทำให้การแก้ปัญหาการก่อการร้ายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

        ๙.๓ ผู้เข้ารับการศึกษา มีความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ และการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบใน ๓ จชต.

        ๙.๔ ผู้เข้ารับการศึกษาสามารถนำผลจากการสัมมนากลุ่มไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

        ๙.๕ ส่งเสริมบูรณาการองค์ความรู้เรื่อง การก่อการร้าย (Terrorism), สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (Global War on Terror), การก่อความไม่สงบ (Insurgency) และ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) มากำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จชต. และเป็นการสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานและองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของรัฐ


     


    เอกสารวิจัยรองรับหลักสูตร

     


    พร ภิเศกและคณะ, พันเอก, รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการกระตุ้นการเข้ามอบตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ๒๕๕๒ 

    ดิเรก ดีประเสริฐและคณะ, พันเอก, รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการพัฒนาองค์กรด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ๒๕๕๒  

    หมายเหตุ : ปรับปรุงเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

  • หลักสูตรพัฒนาวินัยและความมั่นคง (พวม.)


CopyrIght 2023 by CGSC